ประวัติความเป็นมาของตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม

ประวัติจังหวัดมหาสารคามและประวัติความเป็นมาของตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม

ในปีพ.ศ. 2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ข้าหลวงกองสักออกไปสักเลขทางหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการเมืองร้อยเอ็ดได้นำตัวเลขไปสัก ปรากฏว่ามีจำนวนมากถึง 13,000 คนเศษ พระขัติยะวงศา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงคิดว่า พลเมืองของเมืองร้อยเอ็ดมีจำนวนมากอีกทั้งท้าวกวดมีความชอบในราชการมากมาย ทั้งซื่อสัตย์ มีสติปัญญาที่ดี สมควรได้แยกออกไปตั้งเมืองใหม่ เป็นเจ้าเมือง ท้าวจันทร์จึงถกกันกับกรมการเมืองร้อยเอ็ด ผลปรากฏว่า ต่างเห็นดีเห็นชอบให้แยกออกไปตั้งเมืองใหม่ ท้าวจันทร์เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงเห็นชอบ ให้ท้าวกวดแยกออกไปตั้งเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งท้าวมหาชัยหรือกวดนี้เอง เป็นต้นตระกูล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม  ภายหลังจากการเห็นดีเห็นชอบ  ท้าวมหาชัย (กวด) นำพลเมืองออกจากเมืองร้อยเอ็ดราว 2,000 คน มาทางทิศตะวันตก ประมาณ 1,000 เส้น จึงหยุดตั้งอยู่บริเวณที่ดอน แต่ราษฎรนิยมเรียกว่า “วัดข้าวฮ้าว” (ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็นวัดธัญญา) ได้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และศาลมเหศักดิ์ขึ้นเป็นที่สักการะของชาวเมือง อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เห็นว่าขาดแคลนแหล่งน้ำ จึงย้ายมาตั้งระหว่างกุดยางใหญ่กับหนองท่ม ซึ่งเป็นที่ชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่บ้างแล้ว คือ บ้านจาน หรือบ้านจานเก่า (ด้านเหนือของวัดโพธิ์ศรีในปัจจุบัน) ประกอบกับห่างออกไปเล็กน้อยก็เป็นห้วยตะคาง จึงนับว่าเป็นชัยภูมิที่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ 

  พ.ศ. 2408  พระขัติยวงศา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ขอตั้ง “บ้านลาดกุดยางใหญ่” เป็นเมือง- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่ เป็น “เมืองมหาสารคาม” ขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด ให้ท้าว มหาชัย (กวด) บุตรอุปฮาด (สิงห์) เป็น “พระเจริญราชเดช” เจ้าเมืองมหาสารคาม และแต่งตั้ง ท้าวบัวทอง เป็นผู้ช่วย

พ.ศ. 2412 โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองมหาสารคามออกจากเมืองร้อยเอ็ดและยกฐานะเมืองมหาสารคามขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนตำแหน่งยศ ของอรรคฮาช อรรควงศ์ และ อรรคบุตรให้เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาช(อุปราช) ราชวงศ์ ราชบุตร ตามลำดับ และร้อยเอ็ดได้แบ่งพลเมืองให้อีกเจ็ดพันคน พลเมืองเดิมอพยพมาจากเมืองจำปาศักดิ์

พ.ศ. 2422  รัชการที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าอุปราช (ฮึง) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมหาสารคาม เป็นที่ “พระเจริญราชเดช” (ฮึง) และในปีเดียวกันได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ขึ้นเป็นเมืองชั้นตรีขึ้นกับเมืองชั้นเอกอย่างเมืองสุวรรณภูมิ แรกเริ่มตั้งเมืองเลยเขตแดนมายังเขตเมืองมหาสารคาม ภายหลังถูกเจ้าเมืองมหาสารคามท้วงติง จึงถอยกลับไปตั้งเมืองในเขตแดนเมืองสุวรรณภูมิแทน เนื่องด้วยสาเหตุดังกล่าว เพื่อความได้เปรียบในการรับรองเขตแดน

พ.ศ. 2425  เจ้าเมืองมหาสารคาม มีใบบอกขอโปรดเกล้า ยกบ้านนาเลาขึ้นเป็นเมือง “วาปีปทุม” แต่ไม่ได้ไปตั้งเมืองที่บ้านนาเลา ตามที่ร้องขอไว้ แต่กลับไปตั้งที่บ้านหนองแสงแทน (แย่งเขตแดนของเมืองสุวรรณภูมิ) และต่อมาโปรดเกล้า ให้ยกบ้านวังทาหอขวาง (บึงกุย) ขึ้นเป็นเมือง “โกสุมพิสัย”

พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมือง เข้าเป็นมณฑล ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
                         – เมืองร้อยเอ็ด ขึ้นกับมณฑลลาวกาว ตั้งที่บัญชาการมณฑลที่เมืองอุบลราชธานี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลอีสาน)

 พ.ศ. 2435 ส่วนกลางส่งให้นายรองชิต (เลื่อง ณ นคร ) เป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองร้อยเอ็ดและเมืองมหาสารคาม ซึ่งตั้งที่ทำการข้าหลวงอยู่ที่เมืองมหาสารคาม (เป็นครั้งแรก)

  พ.ศ. 2437  มีการแบ่งหัวเมืองในมณฑลอีสานออกเป็นบริเวณ 5 บริเวณ (ซึ่งเมืองในสังกัดบริเวณไม่จำเป็นจะต้องขึ้นตรงหรือกลายเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองที่ถูกตั้งเป็นศูนย์กลางบริเวณเสมอไป) โดยแบ่งออกเป็นได้ดังนี้ คือ 1) บริเวณอุบล 2) บริเวณจำปาศักดิ์ 3) บริเวณร้อยเอ็ด 4) บริเวณบริเวณขุขันธ์ 5) บริเวณสุรินทร์
                  โดยที่บริเวณร้อยเอ็ดมีเมืองที่สังกัดต่อข้าหลวงประจำบริเวณ ทั้งหมด คือ 5 หัวเมือง คือ  
                               1) เมืองร้อยเอ็ด   
                               2) เมืองมหาสารคาม     
                               3) เมืองกาฬสินธุ์ (ถูกยุบลงเป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด   ภายหลังเมื่อมีการตั้งมณฑลร้อยเอ็ดขึ้ น จึงถูกยกฐานะเป็นจังหวัดอุทัยกาฬสินธุ์ แล้วต่อมาถูกยุบเป็นอำเภอหลุบขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม อีกครั้งใน ปี 2474 ในยุคข้าวยากหมากแพง แล้ว กลับตั้งเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี 2490)
                               4) เมืองสุวรรณภูมิ (ภายหลังถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด)
                               5) เมืองกมลาไสย (ภายหลังถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์)

 พ.ศ. 2440 ได้มีการให้ยุบตำแหน่งเจ้าเมือง เป็น ผู้ว่าราชการเมือง ลดบทบาทเจ้าเมืองลงให้มาขึ้นกับส่วนกลางอย่างเต็มที่
               พ.ศ. 2443  อุปฮาด (เถื่อน รักษิกจันทร์) ได้รักษาการเมืองมหาสารคาม เป็นผู้ว่าราชการเมือง หรือ เจ้าเมืองคนที่ 3
          พ.ศ. 2444  เมืองมหาสารคาม มีอำเภอภายใต้การปกครอง ทั้งหมด 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภออุทัยสารคาม อำเภอประจิมสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอวาปีปทุม
           พ.ศ. 2446  มีการยุบตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองทิ้ง และในปีเดียวกัน พระพิทักษ์นรากร(อุ่น) ได้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมาภายหลัง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 4 มีทินนามว่า “พระเจริญราชเดช(อุ่น)” 
           พ.ศ. 2451 ส่วนกลางเปลี่ยน บริเวณ เป็น เมือง กล่าวคือ ให้บางบริเวณที่เป็นที่ตั้งศูนย์กลางบริเวณ (เมืองใหญ่ที่สุดในบริเวณ) ให้เปลี่ยนเป็นเมือง (เทียบเท่าจังหวัด) และให้เมืองบริวาร (เมืองรองในบริเวณ) ลดฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองที่เป็นที่ตั้งศูนย์กลางบริเวณ และในปีเดียวกัน ภายหลังมีการยุบเมืองสุวรรณภูมิให้กลายเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีการโอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของเมืองสุวรรณภูมิ ให้โอนไปขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด

  พ.ศ.2451 ได้มีการจัดตั้งสถานีตำรวจขึ้นเป็น สภ. ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งตัวสถานีปลูกเป็นเรือนไม้เล็กๆชั้นเดียวอย่างกับบ้านเรือนของชาวบ้านธรรมดา หลังคามุงด้วยแฝก เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อบ้านจานเก่า ตั้งอยู่ที่ริมหนองทุ่ม หรือหนองกระทุ่ม (ด้านเหนือของวัดโพธิ์ศรีในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ในตำบลตลาด มีชื่อเรียกว่า สภ.ตลาด โดยแต่งตั้งให้ ส.ต.อ. สุข นามสกุลไม่ปรากฏ เป็นหัวหน้า สภ. มีกำลังนายสิบพลตำรวจ 12 นาย  

  พ.ศ. 2454 ย้ายอำเภอประจิมสารคาม ไปทางทิศตะวันตก และเปลี่ยนนาม เป็น อำเภอท่าขอนยาง และเปลี่ยนนามอำเภออุทัยสารคาม เป็น อำเภอเมืองมหาสารคาม

          พ.ศ. 2454 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกของ สภ. เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงชื่อของอำเภอเป็นอำเภอเมืองมหาสารคาม โดยเปลี่ยนชื่อจาก สภ.ตลาด เป็น สภ อ.เมืองมหาสารคาม และแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.แหวน เพ็ซรจันทร์ (ขุนกำจัดทุรชน) เป็นผู้บังคับกอง ร.ต.ต.รวม สครมาน เป็นผู้บังคับหมวด  ขึ้นอยู่กับกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลที่10 (ร้อยเอ็ด) ใน พ.ศ.เดียวกันนี้ ได้ขยายกิจการของตำรวจออกไปอยู่ประจำตามอำเภอรวม 3 แห่ง คือ               
                  1. สภ อ. วาปีปทุม โดย ส ต.อ ปุ้ย นามสกุลไม่ปรากฏ เป็นหัวหน้า

                  2. สภ.อ ประหลาน (พยัคฆภูมิพิสัย) โดย ส.ต.อ ปาน นามสกุลไม่ปรากฏ เป็นหัวหน้า

                  3. สภ.อ.บรบือ โดย ส.ต.ท เข้ นามสกุลไม่ปรากฏ เป็นหัวหน้า
สภ. ที่ตั้งใหม่ทั้ง 3 แห่งนี้ มีกำลังนายสิบพลตำรวจแห่งละ 12 นาย
ในสมัยที่ตั้ง สภ.อ.เมืองฯ และ  สภ.ทั้ง 3 แห่งนี้  สถานที่ทำงานเป็นเรือนไม้แบบชั่วคราวหลังเล็กๆ อาศัยกับพื้นดิน หลังคามุงแฝก ฝาไม้ไผ่สานขัดกัน (ขัดแตะ)

   พ.ศ. 2455 ยุบตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมี หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามคนแรก

   พ.ศ. 2456 มีการเปลี่ยน ที่ว่าการเมือง เป็น ศาลากลางจังหวัด และเปลี่ยนคุ้มของเจ้าเมือง เป็น จวนผู้ว่าราชการเมือง  

   พ.ศ. 2456 รัชการที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลใหม่ขึ้นเป็น ”มณฑลร้อยเอ็ด” ตั้งที่ทำการมณฑลที่เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งมณฑลร้อยเอ็ดประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ในปีนี้ได้มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดมหาสารคาม มีการโอนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยจากจังหวัดร้อยเอ็ดให้มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และโอนอำเภอกันทรวิชัย (อำเภอโคกพระ) จากจังหวัดกาฬสินธุ์ให้มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม
ในปีเดียวกันนี้ จังหวัดมหาสารคามจึงมีอำเภอภายใต้การปกครองรวมทั้งหมด 6 อำเภอ ได้แก่

1) อำเภอเมืองมหาสารคาม           2) อำเภอโกสุมพิสัย                       3) อำเภอเมืองวาปีปทุม
         4) พยัคฆภูมิพิสัย                      5) อำเภอท่าขอนยาง (อำเภอบรบือ)    6) อำเภอกันทรวิชัย (อำเภอโคกพระ)

    พ.ศ. 2456 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัด โดยความเห็นชอบของพระมหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยะศิริ) ได้ย้ายศาลากลางไปอยู่ที่ตั้งศาลากลางหลังเดิม (ที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคามปัจจุบัน)

   พ.ศ. 2457 ได้มีการสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ ก่อสร้างเสร็จในปี 2467

   พ.ศ. 2459 มีการยกเลิกตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัด และในปีเดียวกัน มีการเปลี่ยนชื่อผู้ว่าราชการเมือง เป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด

    พ.ศ.2465 ร.ต.อ.ขุนกำจัดทุรชน ผบ.กอง พ.ต.ต.พระเทเพนทร์รักษาเป็น ผบ.ก.  พล.ท พระองค์เจ้าคำรพเป็นอธิบดีเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดี ทางการได้โอนเงินงบประมาณค่าปลูกสร้าง สภ.อ. เมืองมหาสารคาม ที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ใช้งบประมาณ 9,600 บาท

โดย พ.ต.ต.พระเทเพนทร์รักษา ผู้บังคับการมณฑลที่10 (ร้อยเอ็ด)ได้เหมาก่อสร้างทำการปลูกสร้าง สภ.อ.เมืองมหาสารคาม ในสมัยนั้น เป็นเรือนไม้แบบถาวร เสาก่ออิฐเสริมปูน พื้นฝาเพดาน กระดานฝา หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ 11ห้อง กว้าง 10เมตร ยาว 15เมตร สร้างเสร็จเมื่อหลายปี พ.ศ.2466

     ต้นปี พ.ศ.2467 ร.ต.อ.ขุนกำจัดทุรชน ผบ.กองฯ และ ร.ต.ท.รวม สารมาน ผบ.หมวด ถูกแต่งตั้งไปรับราชการที่อื่น ร.ต.อ.ขุนกำจัดพาล มาเป็น ผบ.กองฯ แทน ร.ต.ต.บั้ง ศิริโคจรานนท์ มาเป็น ผบ.หมวด 1 ในระหว่าง ผบ.กอง1 และ ผบ.หมวดฯ มาดำรงตำแหน่งนี้ได้ทำการปลูกสร้างสถานที่ราชการและบ้านพักรวม 3 หลัง โดยมิได้ใช้เงินงบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด  คือ

 บ้านพัก ผบ.กอง 1 หลัง ซึ่งเป็นบ้านพัก ผบก.ฯ ปัจจุบันนี้ แต่การปลูกสร้างได้สร้างขึ้นเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง พื้นฝา เพดานใช้ไม้กระดานหลังคามุงสังกะสี และ บ้านพัก ผบ. หมวดฯ 2 หลัง ปลูกสร้างด้วยเรือนไม้ชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง พื้นกระดาน ฝาไม้ไผ่สานขัดแตะ หลังคามุงสังกะสี และสร้างเป็นโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งอยู่ติดหับห้องแถวข้างบ้านพักของข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองในปัจจุบัน

อาคารทั้ง 3หลังนี้ สร้างเสร็จเมื่อปลายปี พ.ศ.2468

    พ.ศ. 2468 โปรดเกล้าฯ ให้ยุบมณฑลร้อยเอ็ดเป็นจังหวัด โอนจังหวัดทั้งหมดที่เคยขึ้นตรงต่อมณฑลร้อยเอ็ด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ไปขึ้นอยู่กับมณฑลนครราชสีมา

    พ.ศ.2471 ผบ.กองฯ และผบ.หมวดฯ ถูกแต่งตั้งไปรักษาราชการที่อื่น ร.ต.อ.ขุน สุภัทร์กิจานนท์ (วารี สรานนท์) มาเป็น ผบ.กองฯ ร.ต.ต.ขุนนิเทศกิจการ (เจียม สัมพานนท์) เป็น ผบ.หมวด ในระหว่างที่ ผบ. กองฯ และ ผบ.หมวดฯ ดำรงตำแหน่งอยู่นี้ ได้เสนอตั้ง สภ.อ.ขึ้น 2  แห่ง คือ
               1. สภ.อ.กันทรวิชัย  ให้ ส.ต.ต.ฉ่ำ แทนโหมก (ร.ต.อ.ฉ่ำ สืบโบรา) ผบ.หมู่เป็นหัวหน้า
               2. สภ.อ.โกสุมพิสัย ให้ ส.ต.ต.ชม ศรีสมบัติ (จ.ส.ต.ชม ศรีสมบัติ) ผบ.หมู่เป็นหัวหน้า มีกำลังนายสิบ พลตำรวจ 18 นาย โดยในปีนี้ กำหนดให้มีตำแหน่ง ผบ.ก.(ผู้บังคับการ) และแต่งตั้ง ผก.ก. สายขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เรียกว่า ผก.ก. สายที่ 9 สภ.อ.เมืองมหาสารคาม สังกัด ผก.ก.ฯ สายที่ 9 จังหวัดร้อยเอ็ด สภ.อ.ทั้ง 2 แห่ง ที่ตั้งขึ้นนี้ 2 ปีแรก สถานที่ทำการได้อาศัยอยู่กับพื้น คนละทางของอำเภอ

พ.ศ.2473 ทางกรมตำรวจได้โอนเงินค่าปลูกสร้าง สภ. 2 แห่ง คือ สภ.อ.วาปีปทุม และ สภ.อ.พยัคฆภูมิพิสัย เป็นเงินแห่งละ 600 บาท ใน พ.ศ.เดียวกันนี้ ผบ.กองฯ และ ผบ.หมวดฯ จึงได้สั่งให้ ส.ต.ท. ชาย จันทร์สระฮาง พร้อมด้วยหัวหน้า สภ. นายสิบพลตำรวจแห่ง สภ.อ.กันทรวิชัย ได้ช่วยกันทำการปลูกสร้าง สภ.อ.กันทรวิชัยขึ้น เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวฝาเพดาน กระดานหลังคามุงสังกะสี ปลูกสร้างเสร็จในปีเดียวกันนั้น

   พ.ศ.2474 ผบ.กองฯ และ ผบ.หมวดฯ ได้สั่งให้ ส.ต.ท.ชาย จันทร์สระฮาง พร้อมด้วยหัวหน้า สภ. และนายสิบพลตำรวจแห่ง สภ.อ.โกสุมพิสัย ได้ทำการปลูกสร้างตัว สภ.อ.ขึ้น 1หลัง เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง พื้นฝาเพดาน กระดานมุงสังกะสีปลูกสร้างเสร็จปลายปี 2473

           พ.ศ.2475 ผบ.กอง และ ผบ.หมวด ได้สั่งให้ ส.ต.ท.ชาย จันทร์สระฮาง พร้อมด้วยนายสิบพลตำรวจทำการก่อสร้าง สภ.อ.วาปีปทุมขึ้น 1หลัง เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง พื้นฝากระดาน หลังคามุงสังกะสี สร้างเสร็จในปีนั้น และเป็นหลังปัจจุบันนี้ ขณะนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก ในปีนั้นเป็นสมัยที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ในปีนี้ ให้ยุบจังหวัดอุทัยกาฬสินธุ์ให้ลงเป็นอำเภอหลุบขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และโอนทุกอำเภอที่เคยขึ้นกับจังหวัดอุทัยกาฬสินธ์ให้โอนมาเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อจังหวัดมหาสารคาม

   พ.ศ. 2476  เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียทั้งหมด 

           พ.ศ. 2477 มีการขุดคลองสมถวิล เพื่อสร้างเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ ของชาวชุมชนเมืองมหาสารคาม

     ผบ.กอง และ ผบ.หมวด และ ร.ต.อ.ขุนสุภัทร์ กิจจานนท์ เป็น ผบ.กอง พ.ต.อ.นุเรศ ผดุงกิจ เป็นอธิบดีกรมตำรวจพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2476 ผบ.กองฯ ได้สั่งให้ ส.ต.ท.ชาย จันทร์สระฮาง ไปทำการปลูกสร้าง สภ.พยัคฆฯขึ้นอีก 1หลัง โดยเพิ่มเติมจากของเก่าเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง พื้นฝา เพดาน กระดาน หลังคามุงสังกะสี

     พ.ศ. 2478 จังหวัดมหาสารคามมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามขึ้น

     พ.ศ. 2478 ร.ต.อ. ขุนสุภัทร์ กิจจานนท์ ผบ.กองฯ ร.ต.ท. ขุนนิเทศ กิจการ ผบ.หมวด ถูกแต่งตั้งไปรับราชการที่อื่น ร.ต.ท.เทียบ โคจรานนท์ เป็น ผบ.กอง ร.ต.ต.ถนอม หงส์ทอง ร.ต.ต.สวัสดิ์ ลัญชานนท์ เป็น ผบ.หมวด ใน พ.ศ.นี้ ทางกรมตำรวจได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆขึ้นที่ สภ.อ.เมือง เพื่อให้มีกำลังคนพอกับการปฏิบัติสถานที่สำหรับให้เจ้าหน้าที่ทำงานไม่พอ ผบ.กองฯ ได้สั่งให้จัดการกั้นห้องใต้ถุน สภ.อ. ขึ้น 3 ห้อง โดยไม่ใช้เงินงบประมาณเมื่อสร้างเสร็จแล้วใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ พลาธิการและเจ้าหน้าที่พยานพาหนะ

       พ.ศ.2479 ทางกรมตำรวจได้โอนเงินงบประมาณค่าปลูกสร้างมาให้เป็นเงิน 600 บาท ผบ.กองฯได้จัดการปลูกสร้างอาคารขึ้น 1 หลัง เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว 2 ห้อง เสาไม้เต็งรัง พื้นเพดาน กระดาน หลังคามุงสังกระสี สร้างเสร็จแล้วเป็นห้องเก็บพัสดุคือหลังที่ได้ขยายต่อเติมดัดแปลงเป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่พลาธิการทุกวันนี้

  พ.ศ.2480 ไม่มีการขยายของกรมตำรวจจังหวัดแต่อย่างใด นอกจากมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆของ สภ.อ.เมืองฯ ให้มีจำนวนพอตามคำสั่งกรมตำรวจเท่านั้น

  พ.ศ.2481 ร.ต.ต. ถนอม หงษ์ทอง ร.ต.ต. สวัสดิ์ ลัญชานนท์ ผบ.หมวดฯ ถูกแต่งตั้งไปรับราชการที่อื่น ร.ต.อ.ไมย์ แข็งกร้า ร.ต.ต. ศิริ คชหิรัญ มาเป็น ผบ.หมวดฯ ใน พ.ศ.ไม่มีการขยายกิจการของตำรวจจังหวัดนี้แต่อย่างใด

  พ.ศ.2482 ไม่มีการขยายกิจการของตำตรวจแต่อย่างใด และกระทรวงมหาดไทยได้โอนการสอบสวนมาให้ สภ.อ.เมืองมหาสารคาม และ สภ.อ.โกสุมพิสัย โดยแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.เอิบ อินทกนก เป็นพนักงานสอบสวน สภ.อ.โกสุมพิสัย

พ.ศ.2483 ได้ยกฐานะ สภ.อ.เมืองมหาสารคามขึ้นเป็น กก.ภ.จว.มหาสารคาม ขึ้นอยู่ในเขต 3 บก.ภ.เขต4 ทุกวันนี้ แต่สมัยที่ตั้งที่ทำการอยู่จังหวัดอุดรธานี ใน พ.ศ.เดียวกันนั้น ร.ต.ท.เทียบ โคจรานนท์ ได้เลื่อนฐานนะเป็น ร.ต.อ. และได้ดำเนินตำแหน่งเป็น ผกก.ฯ และรักษาราชการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 จนกระทั่งปี พ.ศ.2487

   พ.ศ.2484 ร.ต.อ.เทียบ โครจรานนท์ ได้เลื่อนฐานะเป็น พ.ต.ต. และ พ.ศ.2486แต่งตั้งให้ ร.ต.อ.สอน สายแผลง เป็น รอง ผกก.ฯ และแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.ทวี ปรีมาโนช เป็น ผบ.กองฯ

    พ.ศ.2488 พ.ต.ต.เทียม โครจรานนท์ ได้ลาออกจากข้าราชการตำรวจไปประกอบอาชีพทางอื่น ร.ต.อ.สอน สายแผลง รอง ผกก.ฯ ถูกแต่งตั้งไปรับราชการที่อื่นแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.ทวี ปรีมาโนช ผบ.กองฯ รักษาการแทน เป็นปีเดียวกันนั้น พ.ต.ต.ประชา บูรณธนิต มาดำรงตำแหน่งเป็น ผกก.ฯ

      พ.ศ. 2490 แยกอำเภอกาฬสินธุ์(หลุบ) และบางอำเภอ ออกจากจังหวัดมหาสารคาม และยกฐานะอำเภอกาฬสินธุ์ขึ้นเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์มาตั้งแต่บัดนั้น

      พ.ศ.2490 ในรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจ ในกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 9 เป็นกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 9 มีพื้นที่รับผิดชอบเช่นเดิม ปี พ.ศ.2503 ได้มีการจัดตั้งกองบังคับการต่างๆ ขึ้นใหม่ รวมทั้งกองบังคับการตำรวจภูธร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กองบังคับการ และยกเลิกกองบังคับการตำรวจภูธร ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “ภาค” เปลี่ยนเป็น “เขต” เช่นเดิมอีก

    พ.ศ. 2496 ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม สร้างเสร็จสิ้น เป็นตึก 2 ชั้นขนาดใหญ่  ในปีนั้นเป็นปีมหามงคลแก่ชาวมหาสารคามอย่างสูงสุด ตรงกับวันอังคาร ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนิน ประทับหน้ามุขศาลากลาง ถือเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรในจังหวัดมหาสารคาม โดยจังหวัดมหาสารคาม ในปีเดียวกันนั้น มีเขตการปกครอง ทั้งหมด 10 แห่ง โดย แบ่งเป็น อำเภอ 9 แห่ง และกิ่งอำเภอ 1 แห่ง ได้แก่ 1.อำเภอเมืองมหาสารคาม 2.อำเภอบรบือ 3.อำเภอกันทรวิชัย 4.อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 5.อำเภอนาดูน 6.อำเภอวาปีปทุม 7.อำเภอนาเชือก 8.อำเภอเชียงยืน 9.อำเภอโกสุมพิสัย 10.กิ่งอำเภอแกดำ (ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอแกดำ)

พ.ศ. 2493 พ.ร.ฎ.จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจ ในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2493 กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการ ในกรมตำรวจ กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 3 (ตั้งกองบังคับการที่จังหวัดอุดรธานี)  มีอำนาจการรับผิดชอบ และเขตพื้นที่การปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตรงกับเขตพื้นที่ของ 9 จังหวัด  คือ จังหวัดอุดรธานี, หนองคาย, เลย, สกลนคร, นครพนม, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2494 พ.ร.ฎ.จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจ ในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2494 กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการ ในกรมตำรวจ กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4 (ตั้งกองบังคับการที่จังหวัดอุดรธานี)  มีอำนาจการรับผิดชอบ และเขตพื้นที่การปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตรงกับเขตพื้นที่ของ 9 จังหวัด  คือ จังหวัดอุดรธานี, หนองคาย, เลย, สกลนคร, นครพนม, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2498 จังหวัดมหาสารคามมีการจัดตั้งเทศบาลเมืองมหาสารคาม

พ.ศ. 2500 มีการสร้างหอนาฬิกาขึ้น  เพื่อเป็นแลนด์มาร์กใจกลางตัวเมืองของจังหวัด

พ.ศ. 2503 พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2503 กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการ ในกรมตำรวจ กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4 (ตั้งกองบังคับการที่จังหวัดอุดรธานี)  มีอำนาจการรับผิดชอบ และเขตพื้นที่การปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตรงกับเขตพื้นที่ของ 9 จังหวัด  คือ จังหวัดอุดรธานี, หนองคาย, เลย, สกลนคร, นครพนม, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2509 พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2509 กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการ ในกรมตำรวจ ในส่วน กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4  ตั้งกองบังคับการที่จังหวัดขอนแก่น  มีอำนาจการรับผิดชอบ และเขตพื้นที่การปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตรงกับเขตพื้นที่ของ 9 จังหวัด  คือ จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดอุดรธานี, จังหวัดสกลนคร, จังหวัดนครพนม, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดเลย จังหวัดกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2519 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 45 ตั้งกองบัญชาการตำรวจภูธร มี 4 กองบัญชาการ
กองบัญชาการตำรวจภูธร 2 มีเขตอำนาจรับผิดชอบและพื้นที่การปกครองในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี  จังหวัดนครพนม  จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดเลย จังหวัดกาฬสินธุ์
        มีกองบังคับการตำรวจภูธร 4-6 ในกองบัญชาการตำรวจภูธร 2
โดยกองบังคับการตำรวจภูธร 5 มีเขตอำนาจรับผิดชอบในพื้นที่การปกครองในจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี  จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2526 พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2526  กองบัญชาการตำรวจภูธร 2 มีเขตอำนาจรับผิดชอบและพื้นที่การปกครองในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี  จังหวัดนครพนม  จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดเลย จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมุกดาหาร(ตั้งจังหวัดใหม่)

ต่อมาปี พ.ศ. 2532 ได้ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2532 โดยกำหนดตำรวจจังหวัดมหาสารคามเป็น 2 เขต ดังนี้
          เปลี่ยนชื่อหน่วยเป็น ” ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม” ในปกครองทั้ง 2 เขต เรียกตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยว่า ” รองผู้บังคับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมี พันตำรวจเอกธีระ  ชำนาญหมอ  ดำรงตำแหน่งเป็นคนแรก มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและควบคุมปกครองบังคับบัญชาตำรวจทั้งจังหวัด 

      ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามเขต 1 

ประกอบด้วย  อำเภอเมืองมหาสารคาม , กันทรวิชัย , โกสุมพิสัย , เชียงยืน , บรบือ และ แกดำ ไม่มีกองกำกับการเขต จะขึ้นตรงต่อตำรวจภูธรจังหวัด

       ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามเขต 2

มีที่ตั้งที่ทำการอยู่ที่ บ้านหนองแคน หมู่5 ตำบลเมืองเสือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เรียกว่า “กองกำกับการตำรวจ ภูธรจังหวัดมหาสารคาม เขต 2”  ประกอบด้วย อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย , อำเภอนาดูน, อำเภอยางสีสุราช และอำเภอนาเชือก  มีพันตำรวจเอก เสถียร  บุญสม ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการฯ เป็นคนแรก   

ต่อมา ปี พ.ศ. 2537 ได้มีการปรับโครงสร้างตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามใหม่ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2537 ) ออกตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 โดยยุบเลิกกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม เขต 1 และ 2 ทั้งหมด มารวมกันมีฐานะเทียบเท่ากองกำกับการ

เรียกชื่อว่า  “ตำรวจภูธรจังหวัด”  และในปี พ.ศ. 2539 ยกฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยเป็นตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรมหาสารคาม  

 มี พลตำรวจตรี เสริมศักดิ์  แก้วกันทา ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการฯเป็นคนแรก
     และ ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม คนปัจจุบัน คือ พล.ต.ต.ดิเรก จิตอร่าม               

พ.ศ.2537 ได้ยุบเลิกกองบัญชาการตำรวจภูธร 1 – 4 โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งกองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 1 – 9 และกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภาค 1 – 9 ให้ทำหน้าที่ด้านอำนวยการและสนับสนุนกำลังพลแก่ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจที่รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภาค 1 – 9

ปี พ.ศ.2539 มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อกองบัญชาการตำรวจภูธร เปลี่ยนชื่อเป็น ตำรวจภูธรภาค 1 – 9

ปี พ.ศ.2540 มีการเปลี่ยนแปลงผู้บังคับบัญชาของตำรวจภูธรภาคจากผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจที่รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภาค 1 – 9 แต่ผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วย คือ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 – 9

ปี พ.ศ. 2541 พ.ร.ฎ.โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ 17 ต.ค. 2541ปี

2548 พ.ร.ฎ. แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 และ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2548 โดย ตำรวจภูธรภาค 1-9 ตามสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด แบ่งเป็นดังนี้ 
(1) กองบังคับการอำนวยการ ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ 1-5 
(2) ตำรวจภูธรจังหวัด ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ กลุ่มงามสืบสวน กลุ่มงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธร 
(3) ศูนย์สืบสวนสอบสวน ประกอบด้วย กลุ่มงานสืบสวน กลุ่มงานสอบสวน กองกับการ ปฏิบัติการพิเศษ กลุ่มงานสวัสิดภาพเด็กฯ 
(4) ศูนย์ฝึกอบรม 
(5) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ

จากนั้น เมื่อวันที่ 19 ก.ย.66 ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่แห่งใหม่ มีพิธีเจริญพุทธมนต์และพิธีเปิดอาคารที่ทำการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม สถานที่ตั้ง เลที่ 183 หมู่ 15 ต.แก่งเลิงจาน อ.เมืองมหาสารคาม จว.มหาสารคาม

******************** ขอขอบคุณ ร.ต.อ.ปัญญา แพนศรี  ข้าราชการบำนาญ อดีตข้าราชการตำรวจ ภ.จว.มหาสารคาม ที่ให้ความอนุเคราะห์ หนังสือประวัติกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม และต้องขอขอบพระคุณผู้เรียบเรืยงหนังสือเล่มนี้ จ.ส.ต.สมาน สุโพธิ์คำ จัดทำเป็นที่ระลึก ในงานกฐินสามัคคีของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม ครั้งที่ 9  วันที่ 25 -26 ต.ค. 2517  ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งได้มาจากหนังสือเล่มนี้  โดยข้าเจ้าได้นำมาเรียบเรียงใหม่ เพิ่มเติมร่วมกับประวัติของจังหวัดมหาสารคาม***